วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เเตกเเยก

รอยความแตกแยกที่ลูโบะปันยัง กับสมานแผลชายแดนใต้ด้วย‘เฮาะกีตอ’
2010-05-11 12:23:56


มูฮำหมัด ดือราแม

บ่ายที่ร้อนระอุของวันศุกร์วันหนึ่งกลางเดือนเมษายน 2553 หลังเสร็จสิ้นพิธีละหมาดวันศุกร์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งของหมู่บ้านลูโบะปันยัง หมู่ที่ 3 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา มุ่งหน้าไปที่บ้านของนายวอแล๊ะ จินตรา อดีตกำนันตำบลกาบัง ผู้สูญเสียลูกชายจากความไม่สงบ

หมู่บ้านที่มีแผลร้าวจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลให้ชาวบ้านมีหวาดกลัวและมีความหวาดระแวง จนเกือบทำให้ความสามัคคีของคนของคนในหมู่บ้านล่มสลาย แต่บัดนี้ค่อยๆ เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติจากความพยายามทุ่มเทเพื่อชุมชนของแกนนำบางคน

วันนี้พวกเขามีงานในหมู่บ้าน...

นั่นก็คือพิธีเปิดสำนักงานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำวิจัย หรือ สกว. ที่บ้านของนายวอแล๊ะ นั่นเอง

ขนมจีนและน้ำหวานเย็นๆ ถูกจัดเตรียมพร้อมไว้ข้างเต็นท์โดยทีมแม่บ้าน ขณะที่แขกทยอยเดินทางมาถึง มีทั้งนายอำเภอกาบังที่มาเป็นประธานในพิธีเปิด ส่วนทหารจากหน่วยเฉพาะกิจและตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนหนึ่งได้มาถึงก่อนหน้านั้นแล้ว เช่นเดียวกับผศ.ปิยะ กิจถาวร ตัวแทนจาก สกว.

งานพิธีเปิดที่มีผู้ร่วมงานไม่ถึงร้อยคนที่ดูแสนจะธรรมดาเหมือนพิธีเปิดทั่วๆไป แต่ก็แฝงไปด้วยนัยยะของความสูญเสียและการเยียวยา ทั้งในระดับบุคคลและชุมชนที่เคยบอบช้ำจากสถานการณ์ความไม่สงบมาหลายครั้งในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ไม่สงบในหมู่บ้านใกล้ชายแดนไทย –มาเลเซียแห่งนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2551 เริ่มจากมีเหตุการณคนร้ายซุ่มยิงรถรับส่งนักเรียนริมถนนใกล้หมู่บ้าน จากนั้นก็มีเหตุการณ์เรื่อยมา ได้แก่เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงวัยรุ่นในหมู่บ้าน โดยอ้างว่าทลายแหล่งยาเสพติดแต่ไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ต่อมาเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงลูกชายของนายวอแล๊ะอดีตกำนันตำบลกาบังที่เพิ่งเกษียณได้ไม่ถึงปี เหตุเกิดที่บ้านของตัวเองจนเสียชีวิต ตามมาด้วยเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ริมถนนนอกหมู่บ้านไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่นอีกหลายครั้งเช่น ตัดต้นไม้ขวางถนน พ่นสีป้ายจราจร เป็นต้น

นายอุเส็น มูสอ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในฐานะเลขานุการชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยัง และยังเป็นพี่เลี้ยงโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา) สกว.ที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า โครงการเฮาะกีตอ(โครงการของพวกเรา)

นายอุเส็น เล่าว่า เหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมาก โดยเฉพาะทางด้านจิตใจเพราะชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะตัวกำนันเองกับชาวบ้าน หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเองก็เก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน ไม่ยอมออกไปหาชาวบ้าน คิดว่าชาวบ้านไม่ต้องการเขาอีกแล้ว จึงทำให้ความสัมพันธ์กับชาวบ้านยิ่งห่างมากขึ้น

“เมื่อชาวบ้านเห็นว่า อดีตผู้นำคนนี้ไม่เข้าหาชาวบ้านอีกแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ไปมาหาสู่กับเขาเช่นกัน ส่วนลูก 2 คน ของลูกชายที่ถูกยิงเสียชีวิตมาเลี้ยงดูเองด้วย แต่ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้านเริ่มดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างกำนันกับชาวบ้านก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดีด้วย”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกำนันคนนี้ชาวบ้านกับดีขึ้น ก็เมื่อชาวบ้านได้เชิญมาเป็นประธานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังนั่นเอง ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งเดือนมกราคม 2552

โดยนายอุเส็นเห็นว่า สุขภาพจิตของกำนันไม่ดีเลยมาตั้งแต่สูญเสียลูกชาย โดยเฉพาะทัศนคติต่อชาวบ้าน เพราะเชื่อว่า คนในหมู่บ้านนั่นเองที่เป็นคนก่อเหตุ ถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งไปกันใหญ่ จึงเชิญให้มาเป็นประธานเพื่อพยายามให้ลืมเรื่องเก่าๆและต้องการให้เห็นว่าชาวบ้านยังเคารพนับถือ แม้ดูแล้วยังดังความรู้สึกดีๆกลับมาได้ไม่มากก็ตาม

ซึ่งบทบาทหน้าที่สำคัญของประธานก็คือเมื่อมีสมาชิกชมรมเสียชีวิต ประธานก็จะนำเงินฌาปนกิจไปมอบให้กับญาติด้วยตัวเอง เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาจิตใจและสร้างทัศนคติที่ดีต่อชาวบ้านขึ้นมาใหม่ เพราะต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชาวบ้านที่เคยเป็นลูกบ้านของตัวเอง

แม้มีอดีตลูกบ้าน 2 – 3 คนได้หนีหายไปจากหมู่บ้านแล้วก็ตาม

“งานที่ผมทำ จึงเป็นการเยียวยาชุมชนมากกว่าเยียวยาบุคคล เพียงแต่ที่ยกกรณีของกำนันวอแล๊ะขึ้นมา เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในหมู่บ้าน” อุเส็นอธิบาย

ส่วนนายวอแล๊ะ จินตรา อดีตกำนันผู้สูญเสีย เล่าว่า วิถีชีวิตตอนนี้ก็เป็นปกติธรรมดา เหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไร เพราะเกษียณจากกำนันมาตั้งแต่ปี 2549 ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นผู้นำในหมู่บ้านมา 20 ปี ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง




“อะไรที่จะเกิดมันก็ต้องเกิด ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจก็ต้องมีบ้าง ตอนนี้ยังหวาดผวาอยู่ เพราะเราเคยโดนกับตัวเอง ดังนั้นการจะเชื่อใจใครได้ นั้นตอนนี้ต้องพิจารณาให้ดีก่อน ต้องสังเกตให้ดี ไม่ว่าเขาจะเป็นเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว” อดีตกำนันวอแล๊ะ อธิบายถึงความรู้สึกข้างในจิตใจ

พร้อมกับเล่าต่อว่า “แต่การที่ได้มาเป็นประธานชมรมฌาปนกิจบ้านลูโบะปันยังได้นั้น ก็เพราะชาวบ้านเชิญมา แสดงว่าชาวบ้านก็ยังต้องการให้เราเป็นผู้นำอยู่ เพื่อให้ได้มาทำงานเพื่อส่วนรวมอีก”

แม้จะมีบาดแผลอยู่ในใจ แต่ก็ใช่ว่าจะส่งผลให้การทำงานมีปัญหาไปด้วย เพราะตลอด 1 ปี 4 เดือนที่เข้ามาเป็นประธานเป็นคนแรก มีการประชุมคณะกรรมการชมรมทุก 2 – 3 เดือน มีการมอบเงินค่าฌาปนกิจศพสมาชิกไปแล้ว 11 ราย โดยที่เขาเป็นผู้นำไปมอบให้ญาติคนตายด้วยตัวเอง

“ในช่วงแรกๆ ก็มีปัญหาบ้างเป็นเรื่องปกติ เพราะยังมีชาวบ้านที่ยังไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจ ก็ต้องทำความเข้าใจกัน”นายวอแล๊ะ กล่าว พร้อมกับอธิบายต่อว่า

การจัดพิธีเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น เพราะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่ผ่านมาด้วย

“ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้สึกสบายใจอยู่เลย แต่ก็มี ยีเซ็ง(นายอุเส็น) นี่แหละที่เป็นคนที่ดึงเราเข้ามา แล้วก็ให้กำลังใจตลอด” คือคำทิ้งท้ายของอดีตกำนันวอแล๊ะ ผู้สูญเสีย

“ถ้าจัดงานนี้ที่บ้านผม รับรองขนมจีน 100 กิโลกรัมไม่พอแน่ ก็ได้แต่หวังว่าจัดงานครั้งต่อไปชาวบ้านจะมากันมากกว่านี้”


วอแล๊ะไม่ได้พูดประโยคนี้ แต่เป็นเสียงกระซิบทิ้งท้ายของอุเส็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น