วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผ่าคดีความมั่นคงปัตตานี(ตอน 2) เปิดสถิติร้องเรียนศูนย์ทนายความมุสลิม “ความอยุติธรรมใต้พรมไฟใต้”


กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน

ผ่าคดีความมั่นคงปัตตานีตอนที่แล้วชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ การปิดล้อมจับกุมแบบเหวี่ยงแหของฝ่ายความมั่นคงโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาชน เข้าสู่ตอนที่ 2 สำนักข่าวอามานเปิดสถิติร้องเรียนจากศูนย์ทนายความมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ4 อำเภอ จากจังหวัดสงขลาที่มีมากเกินครึ่งพัน ซึ่งจังหวัดปัตตานีมีตัวเลขการร้องเรียนสูงสูงสุด โดยเฉพาะการร้องเรียนที่มาจากผลกระทบของการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

แม้จะเป็นเพียงตัวเลขกลมๆ เปรียบเทียบตัวเลขเป็นรายเดือนของปี 2552 แต่สถิติการร้องเรียนของประชาชนต่อศูนย์ทนายความมุสลิม(ศทม.) น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญอยู่กับปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของเจ้าหน้าที่รัฐมากเพียงใด

ในสถิติที่ศูนย์ทนายความมุสลิมรวบรวมไว้ ระบุว่า การร้องเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลาในห้วง 1 มกราคม 2552 -31 ธันวาคม 2552 มีจำนวน 504 เรื่อง แยกเป็นรายจังหวัด จังหวัดปัตตานีมากที่สุดจำนวน 203 เรื่อง รองลงมาคือจังหวัดยะลา 188 เรื่อง จังหวัดนราธิวาส 127 เรื่อง และใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาจำนวน 27 เรื่อง

โฟกัสลงมาเฉพาะศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีในส่วนของประเด็นการร้องเรียนนั้น การละเมิดที่เกิดจากปิดล้อมตรวจค้นมีจำนวนมากที่สุดคือ 107 คดี กรณีนักเรียนนักศึกษาถูกควบคุมตัวและเรื่องการถูกซ้อมทรมาน มีเท่ากันคือ 20 คดี รองลงมาคือการยึดทรัพย์สินหรือทำลายทรัพย์มีมากถึง 17 คดี การบังคับให้ไปรายงานตัวผ่านโครงการหรือนโยบายต่างๆ จำนวน 12 คดี และอื่นๆ อีก 12 คดี และเมื่อแยกเพศของผู้ที่มาร้องเรียนในศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีนั้น เห็นได้ชัดว่า ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง(81 ต่อ 28 คนเมื่อเทียบกับผู้ร้องเรียนที่เป็นผู้ชาย) แต่เมื่อดูเฉพาะส่วนของผู้เสียหายหรือผู้ถูกจับกุม ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเพศชาย (107 ต่อ 2 คนเมื่อเทียบกับผู้เสียหายหรือถูกจับกุมที่เป็นเพศหญิง) โดยมีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 127 คดี

เรื่องร้องเรียนดังกล่าวนั้น ศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานีได้ดำเนินการไปแล้วจำนวนหลายคดี และหลายขั้นตอน อาทิ การประสานงานเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมาย(พิเศษ) หรือ อยู่ระหว่างการติดตามต่อเนื่อง/อยู่ในชั้นสอบสวน/อัยการ(ฝากขัง) จำนวนหลายคดีด้วยกัน หรือบางส่วนก็ได้รับการประกันตัวสู้คดี บางส่วนก็มีการพิพากษาเสร็จสิ้นไปแล้วตามกระบวนการยุติธรรม

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเด็นการร้องเรียนที่พบว่าเป็นผลจากการปิดล้อมตรวจค้นนั่นพุ่งสูงมาก เพศชายถูกจับกุมหรือเป็นผู้เสียหาย ส่วนเพศหญิงเป็นผู้ร้องเรียน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุกคามสิทธิเสรีภาพ การย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังคงเกิดขึ้นทุกวี่วันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังใช้ยุทธวิธีทางการทหารแก้ไขปัญหาภาคใต้

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องราวใต้พรม ในขณะที่รัฐบาลประกาศว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้กำลังได้ผล และกำลังรุกคืบต่อไปด้วยความพยายามกวาดล้างผู้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบให้มากขึ้น!!


อ่านประกอบ : สถิติเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์ทนายความมุสลิมเปรียบเทียบตัวเลขเป็นรายเดือน ระหว่าง วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ ถึง วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ (ตาราง)

2 ความคิดเห็น:

  1. พอดีพี่ชายได้ต้อองคดีความมั่งคงค่ะจะร้องเรียนได้ที่ไหนค่ะ

    ตอบลบ
  2. พอดีพี่ชายได้ต้อองคดีความมั่งคงค่ะจะร้องเรียนได้ที่ไหนค่ะ

    ตอบลบ